เรื่องล่าสุด

หมวดหมู่

การเพาะเมล็ด

การขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด ลงทุนน้อย ต้นใหม่จะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและเกิดในปริมาณมาก ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการเพาะเมล็ด คือ ช่วงระหว่างเดือนเมษายนถึงปลายเดือนกรกฏาคม อุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด ได้แก่

เมล็ดเล็กๆ จำนวนมากในผลซึ่งสุกเต็มที่ วิธีสังเกตว่าผลสุกเต็มที่แล้วหรือยัง ให้สังเกตจากการเปลี่ยนสีของผล ลักษณะผลจะนุ่มขึ้นหรือแห้ง โดยเมล็ดที่จะนำมาเพาะนั้นต้องนำไปผึ่งให้แห้งในที่ร่มที่มีอากาศถ่ายเท

ภาชนะเพาะเมล็ด จะเป็นกระบะ ตะกร้า หรือกระถาง ก็ได้ แต่ต้องเป็นภาชนะที่ช่วยรักษาความชื้นได้อย่างเหมาะสมและคงที่อยู่เสมอ สำหรับอากาศร้อนอย่างเมืองไทย อาจใช้กระดาษหนังสือพิมพ์คลุมทับ หรือใช้ถุงพลาสติกห่อภาชนะเพาะเพื่อช่วยรักษาความชื้น ภาชนะเพาะเมล็ดควรเตรียมไว้ 2-3 ใบ และเจาะรูที่ก้นไว้ทุกใบ เพราะความชื้นจะขึ้นมาที่เมล็ดได้ทั้งก่อนและหลังการงอก สำหรับภาชนะเพาะเมล็ดนี้ ถ้าหากไม่ได้ใช้ของใหม่ควรนำมาตั้งไฟหรืออบความร้อนเพื่อฆ่าสิ่งที่อาจจะเป็นอันตรายต่อต้นกล้าด้วย

วัสดุเพาะ อาจะเป็นส่วนผสมระหว่างทรายและฮิวมันหรือปุ๋ยใบไม้ผุ วิธีเตรียมเริ่มโดยการร่อนฮิวมัสให้ได้ส่วนที่ละเอียดซึ่งลอดตะแกรงลงมา จากนั้นจึงร่อนทรายต่อ ทรายที่จะนำไปใช้คลุกเคล้ากับฮิวมัส คือส่วนของทรายหยาบที่ค้างอยู่บนตะแกรง ส่วนก้อนกรวดเล็กๆ ที่อาจจะปนอยู่ด้วยให้หยิบทิ้งไป สาเหตุที่ไม่ใช้ทรายละเอียดเพราะ ทรายละเอียดมักจะจับตัวแข็ง ซึ่งถ้าใช้ในการเพาะอาจจะเป็นอันตรายต่อต้นกล้า ปริมาณทรายหยาบจะต้องให้มีมากกว่าฮิวมัส ในอัตราส่วนฮิวมัส 1 ส่วนต่อทรายหยาบ 8-9 ส่วน

เมื่อเตรียมวัสดุเพาะแล้วให้นำไปใส่ในถาดปากกว้างหรือภาชนะโลหะ นำไปตั้งไฟหรืออบความร้อนประมาณ 1 ชั่วโมง เมื่อเย็นลงแล้วจึงนำไปบรรจุไว้ในภาชนะที่สะอาด จุดประสงค์ของการอบความร้อนก็เพื่อฆ่าสิ่งที่อาจจะเป็นอันตรายต่อต้นกล้า เช่น เมล็ดของวัชพืช ซึ่งถ้าปล่อยให้เมล็ดของวัชพืชเจริญเติบโตพร้อมๆ กับเมล็ดที่เพาะจะทำให้การกำจัดในภายหลังเป็นไปด้วยความยากลำบาก และอาจจกระทบกระเทือนต่อเมล็ดที่เพาะอยู่ด้วย หรือถ้าหากต้องการฆ่าเชื้อราซึ่งอาจจะมีผลต่อเมล็ดที่ยังอยู่ในเปลือกหุ้ม ให้ใช้สารละลายโพแทสเซียม ไฮดรอปซิควิโนไลน์ ซัลเฟต ชนิดเข้มข้นละลายน้ำจนเจือจาง อาจจะกะขนาดได้โดยโรยผงชนิดนี้ลงบนเหรียญบาทแล้วนำไปละลายในน้ำครึ่งลิตร รดลงบนวัสดุเพาะเป็นน้ำแรก สานละลายชนิดนี้มีราคาไม่แพง นอกจากนี้โพแทสเซียม ไฮดรอปซิควิโนไลน์ ซัลเฟต ในปริมาณ 1/8 – 1/4 ออนซ์ จะสามารถใช้ได้นาน 1-2 ฤดูกาลเลยทีเดียว

สำลี ไม่ต้องเตรียมไว้มากนัก แต่ควรเป็นสำลีชิ้นใหญ่ เพราะจะใช้ในการปิดรูที่ก้นภาชนะเพาะ

น้ำ ควรเป็นน้ำสะอาดที่ผ่านการต้มเพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆ แล้ว

จานหรือถาดแบนๆ ใช้สำหรับรองภาชนะเพาะเมล็ด

กระป๋องพ่นน้ำ ควรเป็นชนิดที่สามารถพ่นน้ำเป็นฝอยเล็กๆ ได้

แผ่นบังแดด สิ่งสำคัญอีกหนึ่งอย่างสำหรับการขยายพันธุ์แคคตัสด้วยการเพาะเมล็ด คือ ต้องมีร่มเงาให้แก่เมล็ด โดยอาจจะทำแผ่นบังแดดได้อย่างง่ายดายโดยใช้กรอบเก่าที่ไม่มีกระจกขึงด้วยผ้ามัสลิน เพราะจะช่วยให้อากาศผ่านเข้าออกได้ และช่วยบังแสงแดดในเวลาเดียวกัน ในการวางกรอบไม้ควรจะให้เหลือระยะห่างประมาณ 5 เซนติเมตร และไม่ควรบังคับไว้ตลอดเวลา เพราะเมล็ดต้องการอากาศหมุนเวียน หรืออาจจะใช้อีกวิธีหนึ่งโดยการใช้เศษไม้ หนาๆ หรือกระถางมาวางไว้ทั้ง 4 มุม จากนั้นวางไม้ยาวลงบนด้านทั้งสี่แล้ววางกระดาษทิชชูลงบนไม้ สำหรับวิธีนี้อาจจะไม่ค่อยสะดวกนักตรงที่จะต้องเลิกแผ่นกระดาษออกทุกครั้งที่รดน้ำ หรือตรวจจานเพาะเมล็ด

สกุล Mammillaria

Mammillaria

สกุล Mammillaria แคคตัสในสกุลนี้มีมากกว่า 400 ชนิด และอีกหลายสายพันธุ์ ชื่อสกุล Mammillaria มาจากภาษาละตินว่า Mammilla(nipple) หมายถึง โครงสร้างที่เป็นเนินหนามขนาดเล็กของพืช ชื่อสกุลถูกตั้งโดยนักพฤกษาศาสตร์ชาวอังกฤษที่ชื่อว่า E.H Haworth แคคตัสในสกุลนี้มีรูปร่างแตกต่างกันออกไปมากมาย มีทั้งที่เป็นทรงกลมแป้นและทรงกระบอก อาจจะขึ้นเป็นต้นเดี่ยวๆ หรือเป็นกลุ่ม ในแต่ละกลุ่มก็จะประกอบด้วยหัวที่มีรูปร่างและขนาดแตกต่างกันออกไป ใน 1 หัวจะประกอบไปด้วยเนินหนาม ซึ่งระหว่างรอยต่อของเนินหนามมักจะมีขนปกคลุมอยู่ หนามก็มีหลายสี หลายขนาด ลักษณะเป็นขนแข็งหรือตะขอ

ดอกมีลักษณะเป็นทรงระฆังหรือทรงกรวย มีขนาดเล็ก ผลิเป็นวงตรงยอดต้น และมักจะมีท่อดอกสั้น ยกเว้นเพียงไม่กี่ชนิดที่จะมีท่อดอกขนาดยาว เช่น Mammillaria saboae fa. Haudeana ส่วนผลมีขนาดค่อนข้างเล็กเป็นรูปไข่ยื่นและเรียวเล็กผิวเกลี้ยงเรียบ มีหลายสี เช่น สีเขียว สีชมพู หรือสีแดงเมื่อแก่เต็มที่แล้ว

แคคตัสสกุล Mammillaria มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเม็กซิโก แต่บางชนิดก็อาจจะพบได้ในแถบตะวันตกเฉียงใต้ของอเมริกา แถบตะวันตกของหมู่เกาะเวสต์อินดีส และแถบอเมริกาใต้ แคคตัสในสกุลนี้สามารถปลูกเลี้ยงได้ง่ายและออกดอกได้ง่ายในดินที่มีการระบายน้ำดี ส่วนชนิดที่มีหนามไม่หนาแน่นมากจะต้องการร่มเงาบ้างเล็กน้อย

การขยายพันธุ์แคคตัสโดยการตัดแยก

การขยายพันธุ์แคคตัสโดยการตัดแยก แคคตัสส่วนใหญ่สามารถแตกสาขาออกไปได้อย่างอิสระ ดังนั้นจึงเป็นการง่ายที่จะตัดส่วนที่จะเกิดขึ้นมาใหม่ออกมาโดยใช้อุปกรณ์เพียงมีดคมเท่านั้น ซึ่งส่วนที่ถูกตัดแยกออกมาจากต้นนั้นเมื่อนำมาปลูกใหม่มักจะเกิดรากได้ง่าย เช่น สกุล Echiopsis , Epiphyllum , Opuntia , Zygocactus เป็นต้น การขยายพันธุ์แคคตัสด้วยวิธีนี้ควรทำในฤดูฝน เพราะสภาพอากาศเหมาะสมต่อการเจริญเติบโต และควรตัดในบริเวณที่แคบที่สุด

เมื่อตัดต้นกิ่ง หรือหัวย่อย ออกมาแล้ว ควรนำมาผึ่งจนกระทั่งรอยตัดแห้งดี เป็นเวลาประมาณ 10-14 วัน แต่ในกรณีที่เป็นชนิดที่มีลำต้นขนาดใหญ่และต้องตัดบริวเณที่กว้าง การจะปล่อยให้แห้งควรใช้เวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ หลังจากนั้นนำมาจุ่มในผงอะลูมิเนียม (aluminium powder) หรือฮอร์โมนเร่งราก (rooting hormones) เช่น NAA (Napthalene Acetic Acid เป็นสารสังเคราะห์ชนิดหนึ่งจัดอยู่ในกลุ่มออกซิน มีผลในการแบ่งเซลล์และเร่งการเจริญเติบโตของเซลล์นิยมนำมาใช้เป็นสารชักนำให้เกิดราก) , IAA (Indole Acetic Acid: เป็นสารควบคุมการเจริญเติบโตในกลุ่มออกซิน ที่พืชสร้างขึ้นเองโดยธรรมชาติ มีผลในการแบ่งเซลล์) , IBA (Indole Butaris Acid: เป็นสารควบคุมการเจริญเติบโตในกลุ่มออกซิน มีผลในการแบ่งเซลล์ นิยมนำมาใช้เป็นสารชักนำให้เกิดราก) เพื่อช่วยในการป้องกันเชื้อโรค แต่อย่างไรก็ตาม บางครั้งฮอร์โมนก็ไม่มีผลอะไรต่อแคคตัสมากนัก จะใช้ได้ผลดี ก็สำหรับชนิดที่แตกรากช้าเท่านั้น

เมื่อเตรียมต้นที่ตัดแยกออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้วนำมาลงชำ หรือเพราะในวัสดุปลูกที่มีธาตุอาหารอุดมสมบูรณ์ ระบายน้ำดี แต่ต้องสามารถเก็บความชื้นได้สม่ำเสมอ ส่วนมากเราจึงมักปักส่วนที่ตัดแยกออกมาลงในทรายซึ่งผสมกับดินปุ๋ยโดยให้มีส่วนผสมของทรายมากกว่า จากนั้นควรวางกระถาง ไว้ในที่ที่ร่มเงา อากาศถ่ายเทและอบอุ่น เมื่อรากใหม่งอกแล้วควรรดน้ำ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์

ลักษณะหนามของแคคตัส

cactus 4

หนามของแคคตัสเกิดจากากรลดรูปของใบกลายเป็นหนามเพื่อช่วยลดการคายน้ำ และป้องกันอันตรายจากคนและสัตว์ สำหรับนามของแคคตัส มี 2 ส่วน คือ 1. หนามกลาง 2. หนามข้าง

จำนวนและลักษณะของหนามจะแตกต่างกันออกไปตามพันธุ์ของแคคตัส เช่น หนามแข็ง หนามอ่อนนุ่มคล้ายขนสัตว์ หนามรูปหวี หรือ มีปลายงอคล้ายตะขอ เป็นต้น ส่วนมากหนามกลางมักจะแข็งแรงและยาวกว่าหนามข้าง แคคตัสบางชนิดจึงมีเพียงหนามกลาง บางชนิดมีเพียงหนามข้าง และบางชนิดไม่มีหนามเลย ส่วนสีของหนามก็มีหลายสีแล้วแต่พันธุ์ และบางครั้งยังสามารถเปลี่ยนแปลงสีไปตามสภาพการเลี้ยงอีกด้วย

สกุล Thelocactus

Thelocactus

สกุล Thelocactus แคคตัสในสกุลนี้มีอยู่ประมาณ 25 ชนิดและอีกหลากหลายสายพันธุ์ ชื่อสกุล Thelocactus มาจากภาษากรีก ที่หมายถึง แคคตัสหัวนม (nipple cactus) มีลักษณะทรงกลมหรือทรงกระบอก สีเขียวถึงสีเทาอาจจะขึ้นอยู่เป็ยกลุ่มหรือเป็นต้นเดี่ยวๆ ก็ได้ โครงสร้างของพูกลีบมีลักษณะเป็นหัวย่อยๆ มากมาย ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 20 เซนติเมตร และสูงประมาณ 25 เซนติเมตร ลำต้นเป็นสัน มีประมาณ 20 สัน ตุ่มหนามมีลักษณะทรงกลมหรือรูปไข่ มักมีปุยสีขาวหรือสีครีมปนอยู่ด้วย ประกอบไปด้วยหนามข้างค่อนข้างเล็ก และแข็งแรงปานกลาง มักขึ้นแผ่กระจายแนบขนานไปกับลำต้น ประมาณ 25 อัน แต่ละอันยาวมากกว่า 3 เซนติเมตร ส่วนหนามกลางแข็งแรงกว่าหนามข้าง มีหลายลักษณะด้วยกัน เช่น โค้งงอ หรืออ้วน และมีหลายสี เช่น สีขาว สีเหลือง สีแดง และสีดำ มีอยู่ประมาณ 1-4 อัน

ดอกมีหลายสีด้วยกัน เช่น สีขาว สีแดง สีม่วงแดง มีลักษณะบานแผ่ออกกว้าง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4-7 เซนติเมตร ส่วนผลมีลักษณะทรงกลมหรือรูปไข่ เมื่อแก่จะแห้งและแตกออก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร

แคคตัสในสกุล Thelocactus มีถิ่นกำเนิดในเม็กซิโก ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอเมริกา ขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ช้า แต่ปลูกเลี้ยงได้ง่าย ชอบดินที่มีการระบายน้ำได้ดีปานกลาง ในช่วงฤดูร้อนและฤดูฝนจะชอบน้ำมาก และควรงดให้น้ำในฤดูหนาว เพื่อให้สามารถทนต่อสภาพอากาศหนาว และอุณหภูมิต่ำได้