เรื่องล่าสุด

หมวดหมู่

ภาชนะปลูกแคคตัส

ภาชนะปลูกแคคตัส ในปัจจุบันนี้กระถางดินเหนียวยังคงได้รับความนิยมใช้กันมากที่สุด เพราะน้ำซึมผ่านได้เร็ว จึงไม่ต้องกังวลกับปัญหาการให้น้ำมากเกินจนต้นตาย แต่ข้อเสียของกระถางชนิดนี้ก็มีอยู่บ้าง นั่นคือ กระถางดินเหนียว มีรูพรุน น้ำจึงระเหยออกด้านข้างกระถางได้เรื่อยๆ ทำให้อาหารในดินสูญเสียไป จะสังเกตได้ว่าถ้าปลูกแคคตัสต้นเล็กๆ ในกระถางนี้ ต้นที่อยู่ในบริเวณกลางกระถางจะมีลักษณะแคระแกร็น ปัญหาการระเหยของน้ำนี้อาจแก้โดยการฝังกระถางบางส่วนไว้ใต้ทราย กรวด หรือถ่านพีท แต่อาจจะมีปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกก็คือ รากจะงอกทะลุรูที่ฐานกระถางลงสู้พื้นดินได้

ส่วนกระถางพลาสติกนั้นจะไม่ทำให้สูญเสียความชุ่มชื้นไปตามผิวกระถางเหมือนกระถางดินเหนียว เพราะน้ำจะระบายออกทางรูที่ฐานเท่านั้น นอกจากนี้กระถางพลาสติกยังมีน้ำหนักเบา และไม่มีตะไคร่ขึ้นตามผิวกระถางด้วย แต่ปัญหาในการใช้กระถางพลาสติกนั้นก็คือ ถ้าใช้ในที่มีอุณหภูมิสูงในฤดูร้อนเป็นเวลา 2-3 ปี กระถางกรอบจะเริ่มแตก ดังนั้นสถานที่ที่เหมาะสมกับกระถางชนิดนี้มากที่สุด คือ บริเวณในร่มและตามขอบหน้าต่าง

วิธีใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมและสามารถใช้ได้เป็นอย่างดี นั่นคือ การปลูกเป็นแนวยกชั้น (staging beds) โดยแต่ละชั้นจะมีความลึกประมาณ 5-6 นิ้ว และปูรองด้วยแผ่นพลาสติก โดยอาจจะมีหรือไม่มีรูระบายน้ำก็ได้ นอกจากนี้การเลือกประเภทของวัสดุที่ใช้ในการทำกระถางปลูกแล้ว ขนาดของกระถางก็มีความสำคัญเช่นกัน ควรเลือกกระถางให้มีความเหมาะสมกับต้น โดยพิจารณาจากเนื้อที่ว่างระหว่างผิวต้นกับขอบกระถาง หากเหลือเนื้อที่น้อยกว่า 1 นิ้ว แสดงว่าแคคตัสมีขนาดโตเกินไปสำหรับกระถาง ควรเปลี่ยนใหม่ ให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิม แต่ทั้งนี้ไม่ควรเลือกกระถางที่มีขนาดใหญ่เกินไป เพราะจะทำให้ต้นโตช้า เนื่องจากวัสดุปลูกอุ้มน้ำมากเกินไปและบางครั้งอาจทำให้รากเน่าตายได้

แบบกระถางที่เลือกใช้ควรมีลักษณะที่เหมาะสมกับรูปทรงต้น หรือพันธุ์ที่นำมาปลูก ถ้าเป็นพันธุ์ต้นเตี้ยหรือทรงกลม ควรปลูกในกระถางที่ค่อนข้างกลมหรือสี่เหลี่ยมมนๆ ก้นกระถางไม่ควรสอบเข้าแบบถ้วยจอก และไม่ควรเป็นแบบกระถางทรงสูงเกินไป แต่ถ้าหากเป็นพันธุ์ที่เป็นเหลี่ยมทรงสูง ก็สามารถปลูกในกระถางที่มีรูปทรงสี่เหลี่ยมหรือกระถางทรงกลมได้

การจับต้นลงปลูกในกระถางให้ใช้กระดาษหนังสือพิมพ์หรือเศษผ้าจับลำต้นเพื่อป้องกันหนามตำมือ โรยดินผสมรอบๆ ต้น ใช้ไม้เล็กๆ กดดินให้แน่นพอประมาณ ตกแต่งหน้าดินให้เรียบก่อนโรยหินแต่งหน้าให้เสมอขอบกระถาง

การเปลี่ยนกระถางปลูกทำได้โดยใช้ผ้าหรือกระดาษหุ้มรอบต้น เพื่อป้องกันอันตรายจากหนามและเพื่อไม่ให้ต้นกระทบกระเทือน เคาะกระถางเบาๆ ให้ต้นหลุดออกมา แล้วนำไปปลูกในกระถางใหม่ต่อไป

สกุล Copiapoa

Copiapoa

สกุล Copiapoa แคคตัสในกลุ่มนี้มีอยู่ประมาณ 40 ชนิดและมีอีกหลายสายพันธุ์ ชื่อสกุล Copiapoa มาจากชื่อของเมืองโคเปียในประเทศชีลี แคคตัสสกุลนี้มีรูปร่างและลักษณะที่แตกต่างกันออกไป มีทั้งต้นขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางแค่ 2-3 เซนติเมตร จนถึงต้นที่มีขนาดใหญ่สูงกว่า 1 เมตร บ้างก็ขึ้นเป็นต้นเดี่ยวๆ บ้างก็ขึ้นรวมกันอยู่เป็นกลุ่มๆ ขนาดใหญ่ สีของต้นมีทั้งสีเทา สีฟ้าอมเทา จนไปถึงสีเขียว ตุ่มหนามมักมีขนาดใหญ่ เป็นรูปไข่และมีขนขึ้นปกคลุมเป็นปุยนุ่ม หนามก็มีลักษณะแตกต่างกันหลายประเภท แม้แต่ในชนิดเดียวกันหนามก็อาจจะมีลักษณะแตกต่างกันได้ และมักจะไม่สามารถแยกหนามกลางและหนามข้างออกจากกันได้อย่างชัดเจนนัก แต่ก็พอจะแยกได้ว่าหนามข้างจะมีประมาณ 1-13 อัน ส่วนหนามกลางอาจจะมีถึง 20 อันหรือมไ่ม่มีก็เลย ชนิดที่มีต้นขนาดเล็ก มักมีหนามเล็กละเอียด ชนิดที่มีขนาดใหญ่หนามก็จะแข็งแรงและยาวได้ถึง 5 เซนติเมตร หนามอาจมีลักษณะตั้งตรงหรือโค้งงอ มีหลายสีตั้งแต่สีขาว สีเหลือง สีน้ำตาลแดง จนถึงสี ดำ

ดอกส่วนใหญ่อยู่ในเฉดสีเหลือง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3.5 เซนติเมตร เกิดในบริเวณปุยนุ่มที่ยอดต้น ผลมีลักษณะทรงกลม ขนาดเล็ก มีสีเทาจนถึงสีออกเหลือง เมื่อผลสุกจะแตกออกแคคตัสสกุลนี้มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางเหนือของชิลี พบมากในบริเวณแห้งแล้งกันดาร เพาะด้วยเมล็ดได้ง่าย แต่ชนิดที่มีทรงต้นขนาดใหญ่มักงอกเป็นต้นช้า ส่วนชนิดที่มีขนาดเล็กสามารถเจริญเติบโตและออกดอกได้ในเวลา 2-3 ปี แคคตัสกลุ่มนี้ชอบดินที่ระบายน้ำได้ดี ชอบแสงแดดและทนต่อสภาพอากาศเย็นได้เป็นอย่างดี

แสงแดดและอุณหภูมิ

แคคตัสบางพันธุ์สามารถปลูกในอาคารได้ดี แต่บางพันธุ์ก็ต้องการแสงแดดมาก ช่วงแสงที่เหมาะสมกับแคคตัสนั้นควรเป็นช่วงเช้าหรือช่วงบ่าย ที่แดดไม่ร้อนจนเกินไปนัก ควรจัดวางภาชนะปลูกแคคตัสไว้ริมหน้าต่างที่แสงแดดสามารถส่องถึงได้ในตอนเช้า หรือถ้าหากตั้งไว้ในที่มีไม่มีแสงแดดเลย ก็ควรนำออกไปตากแดดริมหน้าต่างบ้าง เพียงวันละ 1-2 ชั่วโมง หรืออาจจะน้อยกว่านั้นก็ได้ตามแต่ความเหมาะสม และการดูแล

ต้นแคคตัสที่ได้รับแสงแดดในปริมาณที่พอเหมาะจะสามารถเจริญเติบโตได้ดี สีสันของหนามและของต้นจะสวยงาม แต่ถ้าหากได้รับแสงแดดจนมากเกินไปจะทำให้ต้นแห้ง เป็นสีน้ำตาล ดังนั้น ควรให้ร่มเงาหรือพรางแสงให้กับสถานที่เลี้ยงแคคตัสด้วย โดยให้เหลือแสงประมาณ 70-80 เปอร์เซน ก็พอแล้ว

สำหรับอุณหภูมิที่เหมาะสมกับแคคตัสนั้น สามารถอธิบายได้ดังนี้ แคคตัสส่วนใหญ่เป็นพืชเมืองร้อน บางชนิดอยู่ได้ในทะเลทรายดังนั้น ในประเทศไทยซึ่งมีอากาศค่อนข้างร้อน จึงเหมาะสมสามารถปลูกเลี้ยงแคคตัสได้ดีเกือบทุกฤดูกาล ไม่ว่าจะเป็นในโรงเรือนที่อุณหภูมิประมาณ 27-32 องศาเซลเซียส หรือในช่วงเดือนเมษายนที่มีอุณหภูมิถึง 38 องศาเซลเซียสก็ตาม สำหรับในช่วงฤดูหนาวนั้น ถ้าเป็นแคคตัสที่พึ่งตัดชำก็จะทำให้ออกรากช้า หรือถ้าเป็นต้นที่อยู่ตัวดีแล้วก็อาจจะทำให้เจริญเติบโตช้าลงไปบ้างเท่านั้น

สกุล Astrophytum

Astrophytum

สกุล Astrophytum สำหรับแคคตัสสกุลนี้มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 4 ชนิด และหลากหลายสายพันธุ์ ชื่อสกุล Astrophytum นี้มาจากภาษากรีก และมีความหมายว่า พืช โดยมีลักษณะรูปร่างลำต้นอ้วนกลม หรือเป็นทรงกระบอก บางชนิดอาจมีความสูงถึ 1 เมตร เช่น Astrophytum ormatum ลำต้นแข็ง บางชนิดจะมีปุยหรือเกล็ดสีขาวปกคลุมอยู่ บริเวณลำต้นมีสันต้น 5-9 สัน อาจมีหนามหรือไม่มีก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์นั้นๆ ด้วย ตุ่มหนามมีลักษณะเป็นปุยสีขาวคล้ายกับสำลี หนามกลางและหนามข้างมีขนาดใกล้เคียงกัน จึงไม่สามารถแยกได้ชัดเจนนัก หนามมีขนาดยาวประมาณ 2-10 เซนติเมตร

แคคตัสสกุล Astrophytum นี้ออกดอกเป็นรูปกรวย บริเวณตอนกลางด้านบนของต้นมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-9 เซนติเมตร สีของดอกส่วนใหญ่ มักจะอยู่ในโทนสีเหลือง แต่อาจจะมีสีอื่นๆ ผสมอยู่ในดอกด้วย เช่น กลีบดอกสีเหลือง บริเวณโคนกลีบและกลางดอกอาจจะมีสีส้มหรือสีแดงก็เป็นได้ ลักษณะของผลเป็นทรงกลม มีขนาด 2.5 เซนติเมตร บางชนิดผลจะมีหนามปกคลุมคล้ายกับต้น เมื่อผลแก่เต็มที่แล้วจะแตกออกมาทางด้านโคน ซึ่งทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ด้วย

แคคตัสสกุล Astrophytum มีถิ่นกำเนิดอยู่แถบตอนเหนือ ตอนกลางและตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเม็กซิโก ยกเว้น Astrophytum asterias ซึ่งมีถิ่นกำเนิดมาจากแถบตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศอเมริกา แคคตัสกลุ่มนี้สามารถเจริญเติบโตได้ที่ระดับความสูงกว่า 2,100 เมตร และเจริญเติบโตได้ในหลายๆ พื้นที่ เช่น ระหว่างซอกหิน ทะเลทราย อหรือใกล้กับไม้พุ่มจำพวกซีโรไฟต์ (xerophytic bushes) ออกดอกง่าย โดยส่วนใหญ่ใช้เวลาประมาณ 2-6 ปี ก็จะออกดอกได้ และสามารถเพาะจากเมล็ดได้

ขั้นตอนการเพาะเมล็ด 2

หลังจากที่ได้แนะนำขั้นตอนการเพาะเมล็ดทั้ง 2 แบบ ไปแล้ว ทั้งแบบเมล็ดขนาดเล็ก และเมล็ดขนาดกลาง ในบทความนี้ก็จะมาต่อกับการเพาะเมล็ดในแบบที่เหลือต่อไป นั่นคือ

3. เมล็ดขนาดใหญ่ แบ่งออกเป็น 2 แบบด้วยกัน คือ เมล็ดที่มีลักษณะกลมและเมล็ดที่มีลักษณะแบน
– เมล็ดที่มีลักษณะกลม เริ่มโดยการวางเมล็ดลงในวัสดุเพาะและเว้ยระยะห่างเท่าๆ กัน ใช้นิ้วมือที่แห้งสนิทกดเมล็ดลงในวัสดุเพาะเบาๆ เพียงครั้งเดียว และอย่าให้ลึกนัก นำภาชนะเพาะลงไปวางในถาดหรือจานที่บรรจุน้ำ ปล่อยให้ดูดน้ำจนชุ่มประมาณ 10 นาทีขึ้นไป เมื่อชุ่มชื้นทั่วถึงดีแล้ว ให้โปรยทรายหยาบลงไปให้ทั่วโดยให้มีขนาดความหนาพอๆ กับเมล็ด จากนั้นจึงไปวางในถาดหรือจานอีกใบหนึ่ง

– เมล็ดที่มีลักษณะแบน ใช้แหนบหยิบวางทีละเมล็ดและกดลงไปในวัสดุเพาะนำภาชนะเพาะไปวางในถาดหรือจานที่บรรจุน้ำ ปล่อยให้ดูดน้ำจนชุ่ม เมื่อชุ่มดีแล้วให้โปรยทรายหยาบให้ทั่ว โดยให้มากกว่าการเพาะเมล็ดชนิดอื่นๆ เล็กน้อย คือให้มีความหนาประมาณครึ่งเซนติเมตร หรืออาจจะประมาณความหนาของทรายโดยดูจากขนาดของเมล็ดก็ได้

4. เมล็ดผสมกันหลายขนาด เมล็ดของแคคตัสที่คละกันขนาดของเมล็ดก็มีความแตกต่างกันออกไป สำหรับเมล็ดที่มีขนาดใหญ่หรือเมล็ดชนิดแบบนั้น อาจจะใช้วิธีกดลงไปในดินได้ สำหรับเมล็ดขนาดกลางและขนาดเล็กไม่สามารถใช้วิธีนั้นได้ วิธีที่ดีที่สุด คือ ใช้วัสดุที่มีลักษณะแข็งและเป็นมัน กดเมล็ดทุกเมล็ดที่หว่านในภาชนะแล้วลงไป วัสดุที่มีผิวมันจะไม่ทำให้เมล็ดตามติดขึ้นมา เมื่อกดเมล็ดลงในวัสดุเพาะแล้วจึงโปรยทรายหยาบลงไปบางๆ พอที่เมล็ดเล็กๆ จะมีที่แทงต้นกล้าขึ้นมาได้ จากนั้นนำภาชนะเพาะไปวางบนถาดหรือจานที่บรรจุน้ำเพื่อให้สามารถดูดน้ำได้ เมื่อดูว่าภาชนะเพาะเปียกชุ่มดีแล้วจึงนำไปวางในที่ที่เหมาะสมต่อไป

สำหรับระยะเวลาในการงอกของแคคตัสนั้นขึ้นอยู่กับชนิดและพันธุ์ ตลอดจนสภาพแวดล้อมในการเพาะด้วย เมล็ดบางชนิดจะงอกภายใน 24 ชั่วโมง บางชนิดใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ ในขณะที่บางชนิดจะใช้เวลานานกว่านั้น อย่างไรก็ตามควรให้การดูแลระมัดระวังมากเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วง 2-3 เดือนแรก นั่นคือ ให้วางภาชนะเพาะในถาดหรือจานที่เติมน้ำไว้เพียงเล็กน้อย ไม่มากถึงขนาดเห็นระดับน้ำ ควรหมั้นตรวจตราดูความชื้นวันละ 1-2 ครั้ง อย่าปล่อยให้ก้นถาดหรือก้นจานแห้งผากเป็นเวลานานๆ สำหรับวันที่อากาศร้อนอาจะตรวจดูให้บ่อยขึ้น แต่อย่าเติมน้ำ เพราะในกระบวนการงอกของเมล็ดนั้นต้องการเพียงความชื้นเท่านั้น ถ้าปริมาณน้ำมากเกินไปเมล็ดอาจจะเสียหายได้ ควรดูให้แน่ใจว่าถาดหรือจานที่รองภาชนะเพาะนั้นอยู่ในระดับเดียวกัน ไม่เทไปด้านใดด้านหนึ่งโดยปล่อยให้อีกด้านหนึ่งแห้ง ถ้าก้นถาดพอชื้นๆ สำลีในภาชนะเพาะจะดูดความชื้นไปในปริมาณที่พอกับความต้องการของเมล็ด ถ้าพบว่าภาชนะเพาะไมมีการดูดซับน้ำอย่างที่ควรจะเป็นโดยที่วัสดุเพาะแห้งและไม่มีความชื้น ให้ยกกระถางขึ้นจากถาดหรือจานแก้วแล้ววางลงในระดับน้ำที่สูงขึ้นกว่าเดิม รอจนเห็นผิววัสดุเพาะบางส่วนเริ่มเปียก จึงนำขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ชุ่มน่้ำจนมากเกินไป น้ำที่ใช้ควรเป็นน้ำที่มีความอุ่นเล็กน้อย นอกจากนี้ควรมีที่กำบังมากสักหน่อย ต่อเมื่อต้นอ่อนแทงขึ้นมาแล้วจึงให้มีความสว่างมากขึ้น

ต้นอ่อนของแคคตัสที่งอกขึ้นมาใหม่ๆ นั้นจะมีลักษณะเป็นวุ้นหยดเล็กๆ ที่มีความเปราะบางมาก รากที่แตกออกมาครั้งแรกก็มีขนาดเท่าเส้นขนเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ที่พ่นน้ำ เพราะละอองน้ำจะชะมันจนหลุดออกไป และจะทำให้รากเล็กๆ หลุดออกไปด้วย แต่หลังจากนั้น 3 เดือนแรกผ่านไปแล้ว การให้น้ำก็จะง่ายขึ้นโดยสามารถพ่นน้ำจากด้านบนได้ในวันที่มีอากาศอบอุ่น และดูแลใต้ภาชนะเพาะให้ชื้นไว้ในช่วงฤดูร้อน อาจจะนำต้นอ่อนออกจากร่มเงาได้บ้างประมาณ 1-2 ชั่วโมงในเวลาเช้า

เมื่อต้นอ่อนมีอายุได้ 5 เดือน ควรหยุดให้น้ำที่ก้นภาชนะเพาะ ให้นำภาชนะเพาะไปวางบนแปลงยกระดับ โดยวางแยกให้ห่างกัน และควรแยกชนิดที่โตช้า ออกจากต้นที่โตเร็วกว่า เพื่อให้สะดวกต่อการรดน้ำ สภาพของต้นอ่อนสามารถพิจารณาได้จากสี และการเจริญเติบโตทั่วๆ ไป นั่นคือ ถ้าไม่มีการยืดตัวอย่างผิดปกติและสีไม่ชัด แสดงว่าได้ร่มเงาอย่างถูกต้อง ถ้าพบว่ามีหนามเล็กๆ งอกออกมาเป็นปกติ ก็แสดงให้เห็นว่าต้นกำลังเจริญเติบโตได้ดี

นอกจากนี้ควรเก็บเปลือกหุ้มเมล็ดที่ตกอยู่รอบๆ ต้นอ่อนทิ้งไปด้วย เพาะมันอาจจะรวมกันเป็นก้อนๆ ทำให้เกิดการเน่าผุได้ โดยเฉพาะภาชนะที่มีเมล็ดหลายขนาด ถ้าต้นอ่อนเจริญเติบโตแข็งแรงดีแล้ว ให้เป่าเปลือกหุ้มเมล็ดทิ้งหรือใช้แหนบดึงออกก็ได้ แต่ถ้าเป็นเปลือกหุ้มที่ยังติดอยู่กับต้นอ่อนก็ไม่จำเป็นต้องดึงออกจากต้น

ถ้่าพบว่าต้นอ่อนเป็นโรคเน่าคอดิน (Damping-Off) คือมีอาการโคนต้นซ้ำเน่าเละ ให้ใช้แหนบดึงต้นออกมาเสีย หรือถ้าเป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากแมลงควรกำจัดด้วยยาฆ่าแมลงชนิดสัมผัสตาย ไม่ควรใช้ประเภทดูดซึม เพราะจะส่งผลเสียต่อต้นเมื่อดูดน้ำและธาตุอาหารเข้าไป ควรเลือกใช้ยาฆ่าแมลงที่เหมาะสมกับชนิดและอายุของต้นแคคตัสด้วย

สำหรับการให้ร่มเงาแก่ต้นออ่นนั้น ถ้าจะดูว่าให้อย่างถูกต้องหรือไม่ สังเกตได้จากสีของมัน ต้นอ่อนของแคคตัสตามปกติมักจะมีตั้งแต่สีเขียวอ่อนจนถึงสีออกชมพู แต่ถ้าต้นอ่อนมีสีแดง หรือบรอนซ์จัด แสดงว่าได้รับแสงสว่างมากจนเกินไป ควรจัดร่มเงาให้มากขึ้น แต่ถ้าต้นอ่อนมีสีเขียวหรือสีเขียวออกขาว แสดงว่ามีร่มเงามากเกินไป ควรให้ร่มเงาให้ถูกต้อง สีของต้นอ่อนก็จะกลับคืนสู่ปกติตามธรรมชาติในเวลาไม่นาน

ส่วนการเคลื่อนย้ายต้นอ่อนนั่นควรจะต้องทำด้วยความระมัดระวัง ภาชนพที่รองรับต้นอ่อนควรเป็นถาดโลหะหรือพลาสติกที่มีความลึกประมาณ 2-3 นิ้ว และมีรูระบายน้ำที่ดี ก่อนย้ายควรจะรดน้ำล่วงหน้าประมาณ 1-2 วัน เพื่อที่วัสดุเพาะจะได้ไม่แห้งหรือเปียกจนเกินไป เพราะถ้าวัสดุเพาะแห้งเกินไปอาจจะทำให้รากเสียหายได้ แต่ถ้าเปียกจนเกินไปก็จะทำให้การย้ายได้ลำบาก