เรื่องล่าสุด

หมวดหมู่

สกุล Cleistocactus

Cleistocactus

สกุล Cleistocactus แคคตัสในกลุ่มนี้ประกอบไปด้วยแคคตัสมากกว่า 50 ชนิด และอีกหลากหลายสายพันธุ์ ชื่อสกุล Cleistocactus มาจากภาษากรีก โดยหมายถึง Closed Cactus หรือการผสมพันธุ์ที่เกิดขึ้นภายในดอกที่หุบอยู่ (เรียกดอกประเภทนี้ว่า cleisotogamous flower) ลำต้นอาจมีลักษณะตั้งตรงหรือโค้งงอ รูปร่างเรียวสูง และจะแตกกิ่งก้านอย่างอิสระ พวกที่มีลำต้นตั้งตรง อาจมีความสูงได้มากกว่า 2 เมตร ในขณะที่พวกที่มีลำต้นโค้งงอ เช่น Cleistocactus dependens อาจะมีความสูงได้ถึง 5 เมตรหรือมากกว่านั้น ลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.5-6.50 เซนติเมตร และมีสันประมาณ 7-26 สัน

แคคตัสกลุ่มนี้บางชนิด เช่น Cleistocactus strausil พูกลีบจะถูกปกคลุมไปด้วยหนามละเอียดมากมาย เนินหนามอยู่ชิดติดกันและมีขนาดเล็ก ประกอบไปด้วยหนามกลางที่ยาวและแข็งแรง 4 อัน หนามข้างประมาณ 8-30 อัน หรือมากกว่านั้น ลักษณะละเอียดและอาจยาวได้ถึง 1.25 เซนติเมตร

ดอกมีลักษณะเป็นหลอด เปิดออกเฉพาะส่วนปลายเท่านั้น หลอดดอกอาจจะมีลักษณะตรง หรือเป็นแบบ Zygomorphic (ลักษณะของดอกที่แบ่งตามแนวเส้นผ่าศูนย์กลางได้เป็น 2 ส่วน ทั้ง 2 ส่วนจะมีลักษณะเหมือนกันทุกประการ และแบ่งได้เพียง 1 ครั้ง) ในบางชนิดดอกอาจะมีลักษณะเป็นแบบ Zygomorphic อย่างชัดเจน และมีรูปร่างคล้ายหม้อต้มกาแฟ ด้านนอกของดอกประกอบด้วยขนสั้นๆ ที่พัฒนามาจากใบของต้น โดยเฉพาะแคคตัสชนิด Cleistocactus strausii นั้น พบว่ามีขนอยู่มากมายบริเวณดอก สีดอกมีตั้งแต่เฉดสีเหลืองจนไปถึงสีเขียวสว่าง หรือเฉดสีแดงจนถึงม่วง ผลมีลักษณะทรงกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.25 เซนติเมตร หรืออาจจะน้อยกว่านั้น ส่วนเปลือกมีสีและลักษณะเหมือนด้านนอกของหลอดดอก

แคคตัสสกุล Cleistocactus นี้มีถิ่นกำเนิดอยู่ในตอนกลางของเปรู ทางตะวันออกของโบลิเวีย และทางตอนเหนือของอาร์เจนตินา ปารากวัย และอุรุกวัย สามารถขยายพันธุ์ได้ง่ายทั้งการเพาะเมล็ดและตัดแยก ออกดอกตลอดทั้งปี และอดทนต่ออุณหภูมิที่หนาวเย็นได้

สกุล Astrophytum

Astrophytum

สกุล Astrophytum สำหรับแคคตัสสกุลนี้มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 4 ชนิด และหลากหลายสายพันธุ์ ชื่อสกุล Astrophytum นี้มาจากภาษากรีก และมีความหมายว่า พืช โดยมีลักษณะรูปร่างลำต้นอ้วนกลม หรือเป็นทรงกระบอก บางชนิดอาจมีความสูงถึ 1 เมตร เช่น Astrophytum ormatum ลำต้นแข็ง บางชนิดจะมีปุยหรือเกล็ดสีขาวปกคลุมอยู่ บริเวณลำต้นมีสันต้น 5-9 สัน อาจมีหนามหรือไม่มีก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์นั้นๆ ด้วย ตุ่มหนามมีลักษณะเป็นปุยสีขาวคล้ายกับสำลี หนามกลางและหนามข้างมีขนาดใกล้เคียงกัน จึงไม่สามารถแยกได้ชัดเจนนัก หนามมีขนาดยาวประมาณ 2-10 เซนติเมตร

แคคตัสสกุล Astrophytum นี้ออกดอกเป็นรูปกรวย บริเวณตอนกลางด้านบนของต้นมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-9 เซนติเมตร สีของดอกส่วนใหญ่ มักจะอยู่ในโทนสีเหลือง แต่อาจจะมีสีอื่นๆ ผสมอยู่ในดอกด้วย เช่น กลีบดอกสีเหลือง บริเวณโคนกลีบและกลางดอกอาจจะมีสีส้มหรือสีแดงก็เป็นได้ ลักษณะของผลเป็นทรงกลม มีขนาด 2.5 เซนติเมตร บางชนิดผลจะมีหนามปกคลุมคล้ายกับต้น เมื่อผลแก่เต็มที่แล้วจะแตกออกมาทางด้านโคน ซึ่งทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ด้วย

แคคตัสสกุล Astrophytum มีถิ่นกำเนิดอยู่แถบตอนเหนือ ตอนกลางและตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเม็กซิโก ยกเว้น Astrophytum asterias ซึ่งมีถิ่นกำเนิดมาจากแถบตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศอเมริกา แคคตัสกลุ่มนี้สามารถเจริญเติบโตได้ที่ระดับความสูงกว่า 2,100 เมตร และเจริญเติบโตได้ในหลายๆ พื้นที่ เช่น ระหว่างซอกหิน ทะเลทราย อหรือใกล้กับไม้พุ่มจำพวกซีโรไฟต์ (xerophytic bushes) ออกดอกง่าย โดยส่วนใหญ่ใช้เวลาประมาณ 2-6 ปี ก็จะออกดอกได้ และสามารถเพาะจากเมล็ดได้

ขั้นตอนการเพาะเมล็ด 2

หลังจากที่ได้แนะนำขั้นตอนการเพาะเมล็ดทั้ง 2 แบบ ไปแล้ว ทั้งแบบเมล็ดขนาดเล็ก และเมล็ดขนาดกลาง ในบทความนี้ก็จะมาต่อกับการเพาะเมล็ดในแบบที่เหลือต่อไป นั่นคือ

3. เมล็ดขนาดใหญ่ แบ่งออกเป็น 2 แบบด้วยกัน คือ เมล็ดที่มีลักษณะกลมและเมล็ดที่มีลักษณะแบน
– เมล็ดที่มีลักษณะกลม เริ่มโดยการวางเมล็ดลงในวัสดุเพาะและเว้ยระยะห่างเท่าๆ กัน ใช้นิ้วมือที่แห้งสนิทกดเมล็ดลงในวัสดุเพาะเบาๆ เพียงครั้งเดียว และอย่าให้ลึกนัก นำภาชนะเพาะลงไปวางในถาดหรือจานที่บรรจุน้ำ ปล่อยให้ดูดน้ำจนชุ่มประมาณ 10 นาทีขึ้นไป เมื่อชุ่มชื้นทั่วถึงดีแล้ว ให้โปรยทรายหยาบลงไปให้ทั่วโดยให้มีขนาดความหนาพอๆ กับเมล็ด จากนั้นจึงไปวางในถาดหรือจานอีกใบหนึ่ง

– เมล็ดที่มีลักษณะแบน ใช้แหนบหยิบวางทีละเมล็ดและกดลงไปในวัสดุเพาะนำภาชนะเพาะไปวางในถาดหรือจานที่บรรจุน้ำ ปล่อยให้ดูดน้ำจนชุ่ม เมื่อชุ่มดีแล้วให้โปรยทรายหยาบให้ทั่ว โดยให้มากกว่าการเพาะเมล็ดชนิดอื่นๆ เล็กน้อย คือให้มีความหนาประมาณครึ่งเซนติเมตร หรืออาจจะประมาณความหนาของทรายโดยดูจากขนาดของเมล็ดก็ได้

4. เมล็ดผสมกันหลายขนาด เมล็ดของแคคตัสที่คละกันขนาดของเมล็ดก็มีความแตกต่างกันออกไป สำหรับเมล็ดที่มีขนาดใหญ่หรือเมล็ดชนิดแบบนั้น อาจจะใช้วิธีกดลงไปในดินได้ สำหรับเมล็ดขนาดกลางและขนาดเล็กไม่สามารถใช้วิธีนั้นได้ วิธีที่ดีที่สุด คือ ใช้วัสดุที่มีลักษณะแข็งและเป็นมัน กดเมล็ดทุกเมล็ดที่หว่านในภาชนะแล้วลงไป วัสดุที่มีผิวมันจะไม่ทำให้เมล็ดตามติดขึ้นมา เมื่อกดเมล็ดลงในวัสดุเพาะแล้วจึงโปรยทรายหยาบลงไปบางๆ พอที่เมล็ดเล็กๆ จะมีที่แทงต้นกล้าขึ้นมาได้ จากนั้นนำภาชนะเพาะไปวางบนถาดหรือจานที่บรรจุน้ำเพื่อให้สามารถดูดน้ำได้ เมื่อดูว่าภาชนะเพาะเปียกชุ่มดีแล้วจึงนำไปวางในที่ที่เหมาะสมต่อไป

สำหรับระยะเวลาในการงอกของแคคตัสนั้นขึ้นอยู่กับชนิดและพันธุ์ ตลอดจนสภาพแวดล้อมในการเพาะด้วย เมล็ดบางชนิดจะงอกภายใน 24 ชั่วโมง บางชนิดใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ ในขณะที่บางชนิดจะใช้เวลานานกว่านั้น อย่างไรก็ตามควรให้การดูแลระมัดระวังมากเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วง 2-3 เดือนแรก นั่นคือ ให้วางภาชนะเพาะในถาดหรือจานที่เติมน้ำไว้เพียงเล็กน้อย ไม่มากถึงขนาดเห็นระดับน้ำ ควรหมั้นตรวจตราดูความชื้นวันละ 1-2 ครั้ง อย่าปล่อยให้ก้นถาดหรือก้นจานแห้งผากเป็นเวลานานๆ สำหรับวันที่อากาศร้อนอาจะตรวจดูให้บ่อยขึ้น แต่อย่าเติมน้ำ เพราะในกระบวนการงอกของเมล็ดนั้นต้องการเพียงความชื้นเท่านั้น ถ้าปริมาณน้ำมากเกินไปเมล็ดอาจจะเสียหายได้ ควรดูให้แน่ใจว่าถาดหรือจานที่รองภาชนะเพาะนั้นอยู่ในระดับเดียวกัน ไม่เทไปด้านใดด้านหนึ่งโดยปล่อยให้อีกด้านหนึ่งแห้ง ถ้าก้นถาดพอชื้นๆ สำลีในภาชนะเพาะจะดูดความชื้นไปในปริมาณที่พอกับความต้องการของเมล็ด ถ้าพบว่าภาชนะเพาะไมมีการดูดซับน้ำอย่างที่ควรจะเป็นโดยที่วัสดุเพาะแห้งและไม่มีความชื้น ให้ยกกระถางขึ้นจากถาดหรือจานแก้วแล้ววางลงในระดับน้ำที่สูงขึ้นกว่าเดิม รอจนเห็นผิววัสดุเพาะบางส่วนเริ่มเปียก จึงนำขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ชุ่มน่้ำจนมากเกินไป น้ำที่ใช้ควรเป็นน้ำที่มีความอุ่นเล็กน้อย นอกจากนี้ควรมีที่กำบังมากสักหน่อย ต่อเมื่อต้นอ่อนแทงขึ้นมาแล้วจึงให้มีความสว่างมากขึ้น

ต้นอ่อนของแคคตัสที่งอกขึ้นมาใหม่ๆ นั้นจะมีลักษณะเป็นวุ้นหยดเล็กๆ ที่มีความเปราะบางมาก รากที่แตกออกมาครั้งแรกก็มีขนาดเท่าเส้นขนเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ที่พ่นน้ำ เพราะละอองน้ำจะชะมันจนหลุดออกไป และจะทำให้รากเล็กๆ หลุดออกไปด้วย แต่หลังจากนั้น 3 เดือนแรกผ่านไปแล้ว การให้น้ำก็จะง่ายขึ้นโดยสามารถพ่นน้ำจากด้านบนได้ในวันที่มีอากาศอบอุ่น และดูแลใต้ภาชนะเพาะให้ชื้นไว้ในช่วงฤดูร้อน อาจจะนำต้นอ่อนออกจากร่มเงาได้บ้างประมาณ 1-2 ชั่วโมงในเวลาเช้า

เมื่อต้นอ่อนมีอายุได้ 5 เดือน ควรหยุดให้น้ำที่ก้นภาชนะเพาะ ให้นำภาชนะเพาะไปวางบนแปลงยกระดับ โดยวางแยกให้ห่างกัน และควรแยกชนิดที่โตช้า ออกจากต้นที่โตเร็วกว่า เพื่อให้สะดวกต่อการรดน้ำ สภาพของต้นอ่อนสามารถพิจารณาได้จากสี และการเจริญเติบโตทั่วๆ ไป นั่นคือ ถ้าไม่มีการยืดตัวอย่างผิดปกติและสีไม่ชัด แสดงว่าได้ร่มเงาอย่างถูกต้อง ถ้าพบว่ามีหนามเล็กๆ งอกออกมาเป็นปกติ ก็แสดงให้เห็นว่าต้นกำลังเจริญเติบโตได้ดี

นอกจากนี้ควรเก็บเปลือกหุ้มเมล็ดที่ตกอยู่รอบๆ ต้นอ่อนทิ้งไปด้วย เพาะมันอาจจะรวมกันเป็นก้อนๆ ทำให้เกิดการเน่าผุได้ โดยเฉพาะภาชนะที่มีเมล็ดหลายขนาด ถ้าต้นอ่อนเจริญเติบโตแข็งแรงดีแล้ว ให้เป่าเปลือกหุ้มเมล็ดทิ้งหรือใช้แหนบดึงออกก็ได้ แต่ถ้าเป็นเปลือกหุ้มที่ยังติดอยู่กับต้นอ่อนก็ไม่จำเป็นต้องดึงออกจากต้น

ถ้่าพบว่าต้นอ่อนเป็นโรคเน่าคอดิน (Damping-Off) คือมีอาการโคนต้นซ้ำเน่าเละ ให้ใช้แหนบดึงต้นออกมาเสีย หรือถ้าเป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากแมลงควรกำจัดด้วยยาฆ่าแมลงชนิดสัมผัสตาย ไม่ควรใช้ประเภทดูดซึม เพราะจะส่งผลเสียต่อต้นเมื่อดูดน้ำและธาตุอาหารเข้าไป ควรเลือกใช้ยาฆ่าแมลงที่เหมาะสมกับชนิดและอายุของต้นแคคตัสด้วย

สำหรับการให้ร่มเงาแก่ต้นออ่นนั้น ถ้าจะดูว่าให้อย่างถูกต้องหรือไม่ สังเกตได้จากสีของมัน ต้นอ่อนของแคคตัสตามปกติมักจะมีตั้งแต่สีเขียวอ่อนจนถึงสีออกชมพู แต่ถ้าต้นอ่อนมีสีแดง หรือบรอนซ์จัด แสดงว่าได้รับแสงสว่างมากจนเกินไป ควรจัดร่มเงาให้มากขึ้น แต่ถ้าต้นอ่อนมีสีเขียวหรือสีเขียวออกขาว แสดงว่ามีร่มเงามากเกินไป ควรให้ร่มเงาให้ถูกต้อง สีของต้นอ่อนก็จะกลับคืนสู่ปกติตามธรรมชาติในเวลาไม่นาน

ส่วนการเคลื่อนย้ายต้นอ่อนนั่นควรจะต้องทำด้วยความระมัดระวัง ภาชนพที่รองรับต้นอ่อนควรเป็นถาดโลหะหรือพลาสติกที่มีความลึกประมาณ 2-3 นิ้ว และมีรูระบายน้ำที่ดี ก่อนย้ายควรจะรดน้ำล่วงหน้าประมาณ 1-2 วัน เพื่อที่วัสดุเพาะจะได้ไม่แห้งหรือเปียกจนเกินไป เพราะถ้าวัสดุเพาะแห้งเกินไปอาจจะทำให้รากเสียหายได้ แต่ถ้าเปียกจนเกินไปก็จะทำให้การย้ายได้ลำบาก

สกุล Ariocarpus

Ariocarpus

สกุล Ariocarpus มีอยู่ด้ยกันทั้งหมด 8 ชนิดกับอีก 2-3 สายพันธุ์ ชื่อสกุล Ariocarpus มาจากคำว่า Aria ซึ่งหมายถึงผลของแคคตัสสกุลนี้นั้นเอง ลักษณะของแคคตัสสกุลนี้ส่วนใหญ่จะมีลำต้นขนาดเล็ก (เส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5-15 เซนติเมตร) มักจะขึ้นเป็นต้นเดี่ยวๆ หรืออยู่รวมกันเป็นกลุ่มๆ ต้นอาจจะเตี้ยจนมีผิวด้านบนเสมอกับพื้นดิน

แคคตัสสกุล Ariocarpus นี้บางชนิดจะมีเนินหนามซึ่งอาจะยาวได้ถึง 5 เซนติเมตร เช่น Ariocarpus tri gonus บางชนิดก็มีขนเป็นปุยนุ่มอยู่บนที่ซอกเนินหนามซึ่งเป็นบริเวณที่ออกดอกแต่จะมีบางชนิดที่จะออกดอกบริเวณยอดของต้น ดอกมีลักษณะเป็นรูปกรวย ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2-5 เซนติเมตร ดอกมักจะมีสีขาว หรือมีสีครีม มีบางชนิด เช่น Ariocarpus kotschoubeyanus มีดอกสีชมพูหรือสีม่วงแดง ผลมีลักษณะเป็นทรงกระบอก ยาวประมาณ 1.25-2.5 เซนติเมตร

แคคตัสสกุล Ariocarpus มีถิ่นกำเนินอยู่บนทางตอนเหนือของประเทศเม็กซิโกและทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศอเมริกา แคคตัสกลุ่มนี้ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีการเจริญเติบโตช้ากว่าแคคตัสสกุลอื่นๆ และจะเจริญเติบโตได้ดีตามหินหรือทรายที่สามารถระบายน้ำได้ ทนแสงแดดจัดๆ ได้ดี

สกุล Espostoa

Espostoa

สกุล Espostoa แคคตัสในสกุลนี้มีอยู่ 8 ชนิด และมีอีก 2-3 สายพันธุ์ ชื่อสกุล Espostoa ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติให้แก่ N.E. Espostoa of Lima ของประเทศเปรู ต้นมีลักษณะเป็นพุ่มๆ หรือคล้ายไม้ยืนต้นก็ได้ มีสีเขียว ปกคลุมไปด้วยขนพุ่มสีขาวหนาแน่น มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-15 เซนติเมตร และสูง 2-7 เมตร ลำต้นเป็นสัน 20-30 สัน มีตุ่มหนามอยู่ชิดติดกัน ประกอบไปด้วยหนามข้างที่มีขนาดสั้น ค่อนข้างละเอียดมีหลายสี เช่น สีขาว สีเหลือง หรือสีออกแดงๆ ประมาณ 20-40 อัน หนามกลางมีลักษณะเหมือนกับหนามข้าง แต่แข็งแรงกว่า มีอยู่ประมาณ 1-2 อัน และยาวประมาณ 1-4 เซนติเมตร นอกจากนี้ยังมี cephalium ซึ่งปกคลุมไปด้วยขนสีเขียวออกเหลืองๆ ถึงสีน้ำตาล อยู่ทางด้านข้างของลำต้น

ดอกจะออกอยู่ตรงบริเวณ cephalium มีลักษณะทรงกรวย สีขาว มักจะบานตอนกลางคืน มีขนาดยาวประมาณ 4-8 เซนติเมตร ผลเมื่อสุกจะเป็นสีแดง มีขนปกคลุมอยู่เล็กน้อย ขนาดยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร แคคตัสในสกุล Espostoa มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเอกวาดอร์ เปรู และโบลิเวีย ปลูกเลี้ยงได้ง่ายและสามารถขยายพันธุ์ได้ดีด้วยเมล็ด