เรื่องล่าสุด

หมวดหมู่

สกุล Pilosocereus

Pilosocereus

สกุล Pilosocereus แคคตัสสกุลนี้มีอยู่ประมาณ 50 ชนิด ชื่อสกุล Pilosocereus มาจากภาษาละติน หมายถึง ขนจำนวนมากคล้ายเส้นผม ลำต้นตั้งตรงแตกกิ่งก้าน สูง 1-10 เมตร ต้นสีเขียวอ่อนเป็นสัน 6-14 สัน ตุ่มหนามปกคลุมด้วยหนามจำนวนมาก ประกอบด้วยหนามข้าง 5-25 อัน แต่ละอันยาว 1-2 เซนติเมตร และหนามกลาง 8 อัน แต่ละอันยาวได้ถึง 10 เซนติเมตร ซึ่งในบางชนิดนั้นพบว่าหนามกลางและหนามข้าง ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ชัดเจน หนามมีหลายสี เช่น สีขาว สีเหลือง สีน้ำตาล

ดอกมีลักษณะเป็นรูปกรวย มีหลายสี เช่น สีขาว สีขาวอมเขียว สีชมพู และสีม่วง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 7.5 เซนติเมตร มักเกิดที่บริเวณส่วนบนของต้นที่มีขนปกคลุมเป็นจำนวนมาก ผลทรงกลม ผิวเกลี้ยง ไม่มีขนปกคลุม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 เซนติเมตร

แคคตัสสกุล Pilosocereus มีถิ่นกำเนิดอยู่ในบราซิล คิวบา เม็กซิโก ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอเมริกา และหมู่เกาะเวสต์อินดีส ขยายพันธุ์ได้ง่ายโดยการเพาะเมล็ดและการตัดชำ แต่ไม่สามารถทนต่อสภาพอากาศหนาวเย็นได้

สกุล Lophophora

Lophophora

สกุล Lophophora แคคตัสในสกุลนี้มีอยู่เพียง 2 ชนิด แต่มีหลากหลายสายพันธุ์ชื่อสกุล Lophophora มาจากภาษากรีก หมายถึง การผลิดอกออกผลที่ส่วนยอด (crest-bearing) ลักษณะลำต้นเป็นทรงกลม อ่อนนุ่ม เหลืองซีดจนถึงสีเขียวอมฟ้า ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 8-13 เซนติเมตร มีทั้งขึ้นเป็นต้นเดี่ยวๆ และเป็นกลุ่ม เป็นระบบรากที่สมบูรณ์ มีลำต้นเป็นสัน ประมาณ 5-13 สัน ตุ่มหนามมีปุยสีขาว อยู่ห่างกันเห็นได้อย่างชัดเจน แต่ไม่มีหนาม

ดอกมีหลากหลายสีด้วยกัน เช่น สีขาว สีเหลือครีม และสีชมพู จะมีเส้นสีเข้มตรงกลางตามความยาวของกลีบดอก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.25-2.5 เซนติเมตร จะเกิดดอกบริเวณยอดที่มีสีขาวปกคลุม ผลมีลักษณะยาว รี ค่อนข้างเล็ก เมื่อแก่จะเป็นสีขาว สีชมพู หรือสีแดง ภายในจะมีเมล็ดอยู่ 2-3 เมล็ด

แคคตัสในสกุล Lophophora มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางตอนกลางของเม็กซิโก และทางตะวันออกเฉียงเหนือของอเมริกา เช่น ในรัฐเท็กซัส สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินเหนียวหรือดินทราย โตช้า แต่ให้ผลได้ง่าย สามารถออกดอกภายใน 5-6 ปี

สกุล Carnegiea

Carnegiea

สกุล Carnegiea แคคตัสในกลุ่มนี้มีเพียงชนิดเดียว คือ Carnegiea gigantea ชื่อสกุล Carnegiea นี้มีตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นเกียรติให้แก่นักบุญ Andrew Carnegie

แคคตัสสกุลนี้มีลักษณะรูปร่างต้นเป็นทรงกระบอกขนาดใหญ่ สูงถึง 12 เมตร โดยปกติจะแตกกิ่งเมื่ออายุ 20-30 ปีไปแล้ว โดยจะแตกกิ่งออกมา ตรงบริเวณระดับความสูง 3 เมตร เหนือจากพื้นดิน โคนต้นอาจมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 60 เซนติเมตร ลำต้นเป็นสันประมาณ 24 สัน มีลักษณะค่อนข้างกลม ตุ่มหนามเป็นสีน้ำตาล มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.5 เซนติเมตร ปกคลุมด้วยหนามราว 20 อัน และมีหนามกลางที่แข็งแรงประมาณ 3-6 อัน ยาวประมาณ 5-6 เซนติเมตร ในระยะแรกนั้นหนามจะมีสีขาว และต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีที่คล้ำลง

ดอกมีลักษณะเป็นทรงกรวย สีขาว เป็นมันคล้ายเคลือบด้วยขี้ผึ้งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 12 เซนติเมตร เกิดในบริเวณส่วนยอดของลำต้นและมักจะบานตอนกลางคืน ผลเป็นรูปไข่มีขนาดยาวมากกว่า 7.5 เซนติเมตร มีเกล็ดสีเขียวปกคลุมเป็นชั้นๆ เมื่อแก่จะเป็นสีแดงและแตกบานออกคล้ายดอก ภายในผลมีเนื้อสีแดงม่วง และมีเมล็ดสีดำ

แคคตัสสกุล Carnegiea มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบตะวันตกเฉียงใต้ของอเมริกา และบริเวณทะเลทรายโซโนราน (Sonoran) ทางตอนเหนือของเม็กซิโก พบได้ที่ระดับความสูง 1,300 เมตร แคคตัสสกุลนี้ปลูกเลี้ยงได้ง่าย ขยายพันธุ์ได้ด้วยการเพาะเมล็ด แต่จะเจริญเติบโตช้าถ้าอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม จะต้องใช้เวลานานกว่าปกติ โดยใช้เวลาประมาณ 40-60 ปี หรืออาจจะมากกว่านั้นจึงจะแตกกิ่งก้านออก

สกุล Gymnocalycium

Gymnocalycium

สกุล Gymnocalycium แคคตัสในกลุ่มนี้มีอยู่มากกว่า 120 ชนิดและอีกหลายสายพันธุ์ชื่อสกุล Gymnocalycium มาจากภาษากรีก หมายถึง ตาเปลือย (nakedbud) แคคตัสในกลุ่มนี้เป็นสกุลที่น่าสนใจ เพราะมีลักษณะรูปร่างแตกต่างกันออกไปและมีดอกที่มีสีสันสวยงาม บางชนิดอาจะมีขนาดเล็ก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 7.5 เซนติเมตร เช่น Gymnocalycium baldianum แต่บางชนิดก็อาจจะมีขนาดใหญ่ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 20 เซนติเมตร เช่น Gymncalycium spegazzinii ชนิดที่มีต้นขนาดเล็กมักจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มๆ ส่วนชนิดที่มีขนาดใหญ่มักจะพบว่าอยู่เป็นต้นเดี่ยวๆ สีของต้นมีตั้งแต่สีเขียวถึงสีน้ำตาลแดง หรือเป็นสีเทาคล้ายกับหินชนวน ลำต้นเป็นสันประมาณ 6-20 สัน มีลักษณะยื่นออกมาคล้ายคาง ตุ่มหนามมีลักษณะทรงกลมเป็นรูปไข่ ปกคลุมด้วยปุยสีขาวหรือสีเหลือง ในต้นที่มีขนาดเล็กตุ่มหนามจะอยู่ชิดติดกัน ส่วนในต้นที่มีขนาดใหญ่นั้นจะมีตุ่มหนามอยู่ห่างกัน ตุ่มหนามประกอบไปด้วยหนามข้างที่ละเอียดกระจายแยกออกจากกันแนบกับลำต้น มีอยู่ประมาณ 2-12 อัน และยาวประมาณ 1-6 เซนติเมตร ส่วนหนามกลางจะยาวกว่าหนามข้างเล็กน้อย มีลักษณะแข็ง โผล่ตั้งออกมาจากลำต้น และมีหลากหลายสี

ดอกมีหลายลักษณะ มีทั้งที่เป็นทรงกรวยและทรงระฆัง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.5-7.5 เซนติเมตร มีหลายสี เช่น สีขาว สีเขียว สีชมพู และสีแดง ผลมีลักษณะเป็นรูปไข่ เมื่อแก่จะเป็นสีเขียวปนน้ำตาล สีแดง หรือสีเทาคล้ายกับหินชนวน ผิวของผลมีลักษณะเป็นเกล็ดซ้อนกันเป็นชั้นๆ คล้ายกับผิวนอกของหลอดดอก มีขนาดยาวประมาณ 3.5 เซนติเมตร

แคคตัสในสกุล Gymnocalycium มีถิ่นกำเนิดอยู่ในหลายๆ พื้นที่ของอาร์เจนตินา โบลิเวีย ปารากวัย และอุรุกวัย พบได้ในหลายพื้นที่ ทั้งในที่ที่ระดับความสูง 3,500 เมตร ในทุ่งหญ้า หิน ดิน ทราย บางชนิดที่มีรูปร่างอ้วน กลม นั้นเคยพบว่าถูกฝังอยู่ในทรายตลอดฤดูร้อน แคคตัสในสกุลนี้ปลูกเลี้ยงได้ง่าย สามารถออกดอกได้ภายในระยะเวลา 2-3 ปี ในช่วงฤดูร้อนต้องการน้ำมาก และควรงดให้น้ำในฤดูหนาวเพื่อช่วยในการต้านทานและทนต่ออุณหภูมิต่ำได้

สกุล Echinocactus

Echinocactus

สกุล Echinocactus แคคตัสสกุลนี้มีอยู่มากกว่า 10 ชนิด ต้นมีทรงกลมถึงทรงกระบอก อาจขึ้นเป็นต้นเดี่ยวหรืออยู่รวมกันเป็นกลุ่มๆ บางชนิดมีใหญ่มาก อาจะมีความสูงถึง 1.8 เมตร และมีเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 1 เมตร ผิวต้นมีสีเขียวถึงสีเขียวอมฟ้า เนื้อเยื่อชั้น epidemis (เนื้อเยื่อชั้นนอกสุดของสิ่งมีชีวิต ทำหน้าที่ปกป้องเซลล์ชั้นอื่นๆ) แข็งแรงมาก ช่วยป้องกันอันตรายจากแสงแดดที่ร้อนแรงได้ดี ตอนกลางด้านบนของต้นจะมีปุยสีขาวถึงสีเหลืองคลุมลำตันเป็นสัน 8-50 สัน มีตุ่มหนามอยู่ห่างกันเห็นได้ชัดเจน ประกอบด้วยหนามข้างที่ตรงหรือโค้ง แผ่กระจายออกมาจากตุ่มหนาม แต่บางชนิดอาจะแนบชิดไปกับผิวต้น มีความแข็งแรงมาก ประมาณ 5-12 อัน ยาวมากกว่า 5 เซนติเมตรและมีหนามกลางที่แข็งแรงกว่ายื่นตรงออกมาจากต้น 1-4 อัน ยาวประมาณอันละ 5-10 เซนติเมตร สีหนามมีตั้งแต่สีขาว สีชมพู สีเหลืองทองจนถึงสีดำ

ดอกออกเป็นวงรอบยอดของต้นซึ่งมีปุยนุ่ม ส่วนชนิดที่ต้นมีขนาดใหญ่จะออกดอกเป็นวงรอบส่วนบนของต้น ดอกมีหลายสี แต่ส่วนมากอยู่ในโทนสีเหลือง ยกเว้น Echinocactus horizonthalonius ซึ่งมีดอกมีสีชมพูจนถึงม่วง ดอกมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 6.25 เซนติเมตร หลอดดอกมีลักษณะเป็นปุยนุ่ม เมื่อบานจะแผ่กว้างออก ผลมีสีเหมือนกับส่วนปุยนุ่มบนต้น ผิวภายนอกมีลักษณะเป็นขนหรือปุยนุ่มปกคลุมเมื่อแก่เต็มที่จะแห้ง

แคคตัสสกุล Echinocactus มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางตอนกลางและทางเหนือของเม็กซิโก และทางตะวันออกเฉียงใต้ของอเมริกา มักพบอยู่ตามบริเวณที่เป็นหินหรือพุ่มไม้ ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดได้ดี เจริญเติบโตได้เร็ว โดยเฉพาะ Echinocactus grusonii แต่มีบางชนิด เช่น Echinocactus horizonthalonius และ Echinocactus polycephalus นั้น จะเจริญเติบโตช้า หากเกิดจากการเพาะเมล็ดเมื่อต้นยังเล็ก ควรระวังอันตรายจากอุณหภูมิต่ำและควรงดให้น้ำเมื่อถึงฤดูหนาว